วันอังคารที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2554

จิตนาการ

จินตนาการ ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เป็นคำที่อยู่ภายในกลุ่มของ จินต- , จินตซึ่งเป็นคำกริยา ที่แปลว่า คิด ส่วนคำ จินตนาการ เป็นคำนาม แปลว่า การสร้างภาพขึ้นในจิตใจ
                         ภาพที่ถูกสร้างขึ้นในจิตใจนั้น มีบทบาทอย่างมากต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ ที่เน้นว่า มนุษย์ เพราะผู้เขียนยังไม่ได้เข้าไปศึกษาถึงการดำเนินชีวิตของสิ่งที่มีชีวิตอื่น ๆ โดยภาพที่มนุษย์ได้สร้างขึ้นในจิตใจนั้นมีความแตกต่าง หลากหลาย ไปตามความเข้าใจ และมองเห็นได้ของแต่ละคน ผู้เขียนเองมี ประสบการณ์ ความเข้าใจ และ มองเห็นภาพในจิตใจของตัวเองเป็นการเฉพาะ ที่จะขอนำเสนอให้ท่านผู้อ่านได้มองตามไปบ้าง จะเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วยอย่างไรนั้น ขอให้อยู่ในดุลพินิจของผู้อ่านทุกท่านเอง
                         ภาพที่ถูกสร้างขึ้นในจิตใจนั้น ผู้เขียนได้แบ่งออกเป็น ๓ แบบ ดังนี้
                         แบบที่ ๑ เป็นภาพเพ้อฝัน อาจจะจริง หรือไม่จริงก็ได้ แต่ส่วนมากมักจะไม่จริง เช่น วาดภาพว่า มีมนุษย์ที่เหาะได้จริง ๆ อย่างซุปเปอร์แมน ซึ่งมีคำตอบว่า ภาพอย่างนี้ ไม่มีทางเป็นไปได้ แต่ด้วยความเพ้อฝันว่ามนุษย์จะบินได้นั่นเอง ได้นำมาซึ่งการประดิษฐ์อุปกรณ์ที่ช่วยให้มนุษย์ขึ้นไปลอยอยู่ในอากาศ เหมือนบินได้จริง ๆ ภาพแบบที่ ๑ นี้ ตรงกับภาษาอังกฤษว่า Imaginary ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยว่า จินตนาการ อยู่แล้ว
                         แบบที่ ๒ เป็นภาพที่ถูกสร้างขึ้นโดยการมองไปข้างหน้า หรือในอนาคตว่า จะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง อาจจะนึกขึ้นมาลอย ๆ หรือนำเหตุผลประกอบใด ๆ มาเป็นมูลฐานของการสร้างภาพก็ได้ เช่นผู้บริหารบ้านเมือง จะมองไปข้างหน้าเห็นความอยู่ดีกินดีของประชาชนในประเทศโดยถ้วนหน้ากัน ซึ่งเป็นความปรารถนาที่เป็นพื้นฐานของการกำหนดนโยบายของการบริหารประเทศ อย่างหนึ่ง ภาพที่มองเห็นในอนาคตนั้น อาจจะเป็นจริง หรือไม่เป็นจริงก็ได้ เวลาจะนำคำตอบมาให้ ภาพแบบนี้ ตรงกับภาษาอังกฤษว่า Vision ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยว่า วิสัยทัศน์ ( โปรดอ่านรายละเอียด ความหมายของคำนี้ ใน สาระน่ารู้ โดย พ.อ.ชูเกียรติ มุ่งมิตร ที่นำเสนออยู่ใน
www.rta.mi.th )
                         แบบที่ ๓ เป็นภาพที่ถูกวาดตามหลักของความเป็นจริง เกิดขึ้นจริงอย่างแน่นอน ถ้าได้มีการปฏิบัติที่เป็นไปตามขั้นตอนที่ถูกต้อง เช่นการชิปลูกกอล์ฟขึ้นกรีนให้ใกล้ธงมากที่สุด ย่อมเกิดขึ้นได้ถ้านักกอล์ฟทำได้ตามแบบฝึก แต่โดยที่ผู้เขียนมีประสบการณ์ด้านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ จึงขอกล่าวถึงภาพที่นักโปรแกรมจะต้องวาดภาพขึ้นในจิตใจให้ได้ว่า จะทำอย่างไร หรือจะใช้คำสั่งอะไรบ้างของโปรแกรมมาใช้ คอมพิวเตอร์ จึงจะทำงานให้ได้อย่างที่ต้องการ ภาพแบบนี้มีผลลัพธ์แน่นอน หากปฏิบัติถูกต้องตามระเบียบของวิธีการเขียนโปรแกรม ภาพแบบนี้ ตรงกับภาษาอังกฤษว่า Logic ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยว่า ตรรกะ
                         บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่มีบทสรุป เป็นสาระน่ารู้บทหนึ่ง ที่ผู้เขียน นำมาแทรกบทความที่เขียนโดยการแปลจากแบบเรียนภาษาจีนที่นำเสนอต่อเนื่องกันมา ให้เป็นเรื่องอื่น ๆ บ้าง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น